เคิร์ต โคเบน และ เนอร์วานา ไม่อยู่แล้ว แต่เพื่อนร่วมรุ่นอย่าง เอ็ดดี เว็ดเดอร์ และ เพิร์ลแจม ยังอยู่ จากต้นทศวรรษ 1990 มาถึงปัจจุบัน จิตวิญญาณแบบอัลเทอร์เนทีฟร็อกกรันจ์ ก็ปรับเปลี่ยนพัฒนาไปตามกาลเวลาและวัย
วันนี้ เอ็ดดี เว็ดเดอร์ (ชื่อแท้จริงที่น้อยคนจะรู้จักคือ เอ็ดเวิร์ด หลุยส์ ซีเวอร์เซน ที่ 3) อยู่ในวัยใกล้ 50 ปีรอมร่อ และเขากำลังจะได้ฉลอง 20 ปี เพิร์ลแจม ร่วมกับเพื่อนๆ ถึงจะอยู่ในวงการมาตั้ง 2 ทศวรรษแล้ว แต่ความฝันบางอย่างของเขาเพิ่งจะสำเร็จออกมาเป็นอัลบั้มเดี่ยวชุดที่ 2
ครั้งนี้ เอ็ดดี ละทิ้งกีตาร์ไฟฟ้าเครื่องดนตรีอันคุ้นมือ แล้วหันมาหยิบอูคูเลเลไปบรรเลง เขาเป็นเจ้าของกีตาร์ฮาวายตัวแรกในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เขาใช้มันเป็นเครื่องดนตรีสำหรับการแต่งเพลงระหว่างการเดินทาง เพราะขนาดของอูคูเลเลทำให้สะดวกสบายที่จะพกพาไปไหนมาไหนด้วย เขาแต่งเพลงมากมายจากอูคูเลเลก่อนจะนำมารวมกันเป็นอัลบั้ม
16 เพลงที่รวมอยู่ใน Ukulele Songs มีทั้งเพลงใหม่และเก่า บางเพลงแต่งตั้งแต่สมัยที่ เอ็ดดี เล่นอูคูเลเลใหม่ๆ ทุกเพลงเป็น “สาร” ส่วนตัวของศิลปินหนุ่มผู้นี้ เป็นเพลงรักสำหรับภรรยาและลูกสาว มีเพลงอกหักเพื่อย้อนรำลึกถึงความสัมพันธ์ครั้งเก่า ทั้งหมดเปิดเผยและจริงใจ ค่อนข้างจะแปลกไปจากงานร็อกหนักๆ ของ เพิร์ลแจม ที่มักจะมีเนื้อหาเคร่งเครียดและเสียงร้องนั้นราวกับกำลังแบกโลกไว้บนบ่า
ไม่ได้มีเพียง เอ็ดดี กับอูคูเลเลของเขาเท่านั้น อัลบั้มนี้ยังมีแขกรับเชิญอย่าง แคต พาวเวอร์ และ เกลน แฮนซาร์ด (นักร้องนักแต่งเพลงไอริชที่เคยแสดงหนังดังเรื่อง Once) มาร่วมร้องในบางเพลง ทั้งยังมีเสียงเครื่องสายอย่างเชลโลมาบรรเลงร่วมในบางแทร็ก
เอ็ดดี ให้ความสำคัญกับการร้องและเสียงของเจ้าเครื่องดนตรี 4 สายตัวเล็กนี้มากกว่าอย่างอื่น ฟังๆ ไปก็อดรู้สึกไม่ได้ว่ามันค่อนข้างจะมากเกินไปสักหน่อย แต่ทั้งหมดทั้งมวลคงจะเพราะเจ้าของอัลบั้มอยากให้คนฟังได้ซึมซาบกับอูคูเลเล เขาคาดหวังว่า Ukulele Songs ของเขาจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนผละห่างจากคอมพิวเตอร์หรือโทรทัศน์และมาทำดนตรีของตัวเอง หรือใช้เวลาอยู่กับเพื่อนๆ
สำหรับ เอ็ดดี แล้ว อูคูเลเลทำให้เขาไม่ต้องอยู่คนเดียวและได้แต่งเพลง เขาอยากให้ทุกคนมีกันคนละตัว เพื่อใช้เป็นเครื่องมือแสดงตัวตนของเราออกมา เพราะเป็นเครื่องดนตรีขนาดเล็กที่เล่นไม่ยาก (ทั้งยังฮิตระเบิดระเบ้อในบ้านเราขณะนี้)
เปิดอัลบั้มด้วย Can’t Keep เสียงร้องระดับบาริโทนอันแสนเศร้าของ เอ็ดดี เคล้าคลอกับเสียงอูคูเลเลที่ค่อนข้างคึกคัก เนื้อเพลงตอนหนึ่งบอกว่า “You can’t keep me now” แฟนเพลงคงจะเชื่อ เพราะว่า เอ็ดดี ดูไม่เหมือนนักร้องนำของ เพิร์ลแจม คนเดิมแล้ว
ตามด้วยเพลงอกหักเศร้าน้ำตาเล็ด ไม่ว่าจะ Sleeping By Myself ที่ เอ็ดดี ครวญคร่ำว่าความสัมพันธ์ครั้งนี้ไม่ได้มีแค่ 2 คนอีกต่อไป ใครบางคนต้องนอนเดียวดายในค่ำคืนนี้
เพราะ Without You จึงนอนไม่หลับ ที่ทำได้ก็คือคิดถึงใครบางคนที่ไม่อยู่ตรงนี้ โดยลำพังเขายังต้องเยียวยารักษาบาดแผลในหัวใจที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นความสัมพันธ์
More Than You Know เพลงหวานขมจากปี 1929 นำมาร้องใหม่เพื่อเอาไว้อ้อนสาว “ความรักเพียงเล็กน้อยอาจจะเป็นทั้งหมดที่เธอให้ได้ แต่กลับเป็นสิ่งที่ฉันกลับขาดไม่ได้” คนยุคโน้นเขาแต่งเพลงได้กินใจอย่างแรง
Goodbye เล่าถึงจุดสุดท้ายเมื่อความสัมพันธ์อันยาวนานต้องจบลงก็ไม่มีอะไรนอกจากการร่ำลาที่แสนเศร้า Broken Heart อีกหนึ่งเพลงซูเปอร์เศร้า เสียงของ เอ็ดดี กับ อูคูเลเล นั้นเร้าอารมณ์ชวนน้ำตารื้น “ไม่ต้องสนใจ ไม่เป็นไร ก็แค่อกหัก”
หัวใจสลายมาหลายเพลงแล้วก็เริ่มมีประกายงดงามแวบวับเกิดขึ้นมาบ้าง เมื่อมาถึง Longing To Belong อันเป็นความหวังสุดโรแมนติก เพลงนี้มีเครื่องสายอย่างเชลโลมาร่วมบรรเลงกับอูคูเลเล
Hey Fahkah เป็นอินเทอร์ลูดสั้นๆ ขำๆ คั่นเวลาก่อนมาถึง You’re True หลังจากเศร้าโศกมา ในที่สุดเขาก็ได้พบกับคนที่ใช่
Light Today เพลงของคนเล่นเซิร์ฟ ในอารมณ์ขณะก้าวเดินเหยียบผืนทรายและสัมผัสกับคลื่นซัดสาด ถึงจะผ่านพบกับความสูญเสียมาแล้ว แต่ความหวังก็จะทำให้ชีวิตดำเนินต่อ “I’ll bleed but I won’t break”
Sleepless Nights เอ็ดดี ร้องคู่กับ เกลน แฮนซาร์ด (เพลงนี้ เอ็มมีลู แฮร์ริส และ แกรม พาร์สันส์ เคยร้องไว้ในสไตล์คันทรี) เสียงของทั้งคู่ไม่รู้ว่าเสียงใครเศร้ากว่ากัน หนุ่มๆ ที่กำลังเหว่ว้าเดียวดายได้ฟังเพลงนี้อาจหลั่งน้ำตาได้ง่ายๆ
Once in a While เพลงเก่าจากปี 1937 เป็นเพลงของหนุ่มคนหนึ่งที่เพียงแต่อยากร้องขอให้เธอคนนั้นคิดถึงเขาบ้างแม้แต่เพียงชั่วขณะนิดเดียวก็ยังดี ขั้นด้วย Waving Palms เพลงบรรเลงอู้คสั้นๆ ก่อนจะมาถึง Tonight You Belong To Me เอ็ดดี กับ แคต พาวเวอร์ หวานไหวในอารมณ์ชวนฝันบนเกาะสวรรค์ฮาวาย
ปิดท้ายด้วยเพลงรักที่เรารู้จักกันดีอย่าง Dream A Little Dream ซึ่ง เอ็ดดี นำมาทำใหม่ได้อย่างแปลกแตกต่าง เสียงใหญ่ๆ และแหบห้าวของเขาทำให้นึกถึงนักร้องรุ่นใหญ่อย่าง ทอม เวตส์ ประมาณนั้น
ทั้งอัลบั้มเป็นแบบเรียบง่าย ย้อนยุคหน่อยๆ เหมาะสำหรับเป็นเพลงที่ใช้เล่นยามตั้งแคมป์ไฟริมหาด เสียงร้องระดับบาริโทนของ เอ็ดดี นั้นเปี่ยมอารมณ์ น่าฟัง และชวนให้เคลิบเคลิ้มหลับไหล เป็นอัลบั้มสำหรับแฟนๆ กลุ่มที่โต (หรือแก่) ไปพร้อมกับเจ้าของอัลบั้ม
ถึงแม้ว่าเขายังคงร็อกกับเพิร์ลแจมได้อย่างฉลุย แต่ก็มีบ้างบางช่วงเวลาที่ เอ็ดดี อยากจะใช้เวลาดีๆ กับครอบครัวและเพื่อนฝูง โดยมีเพลงเหล่านี้เป็นตัวเชื่อม ว่าแล้วก็ปิดคอมพิวเตอร์ปิดโทรทัศน์ หยิบอูคูเลเลขึ้นมาบรรเลงเพลงกันดีกว่า
ขอบคุณ
http://www.posttoday.com/บันเทิง/บันเทิงต่างประเทศ/100228/เบาๆ-กับอูคูเลเล-อีกด้านของร็อกเกอร์
No comments:
Post a Comment